เปิดผลงานเด็ดจากนักศึกษาไฟแรง เผยมุมมองการสื่อสารยุคต่อไปจากคนรุ่นใหม่ในงาน “Me[I]dia” ครั้งที่ 9 กับผลงานกว่า 47 ชิ้น จากนักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาควิชาสื่อและการสื่อสาร วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ขอเชิญ อาจารย์ บุคลากร นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และสื่อสารมวลชนทุกท่านเข้าร่วมชมการแสดงผลงานประจำปี "Me[I]dia" (มี[ไอ]เดีย) จากนักศึกษาซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 9 ติดต่อกัน โดยภายในงานจะมีผลงานของน้องๆ นักศึกษามากความสามารถกว่า 47 ชิ้นงานซึ่งล้วนแล้วแต่อัดแน่นด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์ที่แสดงออกมาผ่านผลงานเหล่านั้นทั้งด้านดิจิทัลมีเดีย งานสื่อสารมวลชน งานภาพยนตร์ และการสร้างคอนเทนต์ผ่านแคมเปญของนักศึกษา IMC โดยงานนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 6 กรกฎาคม 2567 ที่ House Samyan สามย่านมิตรทาวน์ ตั้งแต่เวลา 10.00 - 20.00 น. ขอเชิญนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และคนในวงการการสื่อสารและโฆษณาที่สนใจร่วมชมการแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อและการสื่อสาร ที่จะกลายเป็นพลังสำคัญในการสร้างงานด้านสื่อและการสื่อสารในอนาคต
ในปัจจุบันที่ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นักโฆษณาและการสื่อสารจำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจความซับซ้อนของการหลอมรวมกันของสื่อดิจิทัล การสร้างคอนเทนต์ และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน เพื่อใช้งานสื่อและคอนเทนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ งาน "Me[I]dia" มีจุดประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นว่านักศึกษาของภาควิชาได้ทำความเข้าใจและตีความพลวัตทางสื่ออย่างไร และได้เตรียมตัวเข้าสู่ธุรกิจนี้ที่ต้องการทั้งความสามารถในการปรับตัว พลังความคิดสร้างสรรค์ และความเข้าใจแพลตฟอร์มสื่อในยุคปัจจุบันและอนาคตอย่างไร
การเฉลิมฉลองในพลังความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม
คำว่า “มี[ไอ]เดีย” (Me[I]dia) เป็นการนำเอา 2 คำ นั่นคือ “มีเดีย” (Media) ที่แปลว่า “สื่อ” และคำว่า “ไอเดีย” (Idea) ที่แปลว่า “ความคิด” มารวมกันเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสร้างสรรค์ของน้องๆ นักศึกษา ที่ต่างก็มาทลายขอบเขตของสื่อดิจิทัล นอกเหนือจากนี้นักศึกษายังนำคอนเซปต์ “ดรีมเมอรี่ส์” ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างคำว่า “ดรีม” (Dream) และ “เมมโมรี่ส์” (Memories) เพื่อสร้างคำศัพท์ใหม่ ที่มีความหมายถึง “การค้นหาชิ้นส่วนของความทรงจำในความฝัน” ดรีมเมอรี่ส์จึงเปรียบเสมือนพื้นที่สำหรับให้นักศึกษาได้แสดงความฝันและนึกถึงความทรงจำที่สำคัญร่วมกัน
ในงานนิทรรศการนี้ “ดรีม” สื่อถึงการมีความฝันและความหวัง ทำให้ผู้คนได้เห็นถึงความตั้งใจและความพยายามเพื่อทำตามความฝันผ่านผลงานของนักศึกษา ส่วน “เมมโมรี่ส์” คือสิ่งที่สื่อถึงการได้ใช้เวลาร่วมกับคนที่สำคัญในช่วงเวลาที่น่าจดจำ โดยบรรยากาศภายในงานเป็นไฮไลต์และโลกของความฝัน ที่ทำให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสถึงความมีชีวิตชีวาและความอบอุ่น
ตั้งแต่ช่วงเช้าถึงเย็น ทุกท่านจะได้ร่วมชมผลงานกว่า 47 เรื่องราวในงานนิทรรศการที่จะแสดงให้เห็นถึงมุมมองที่ต่างกันไป รวมไปถึงทักษะของแต่ละคนที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ซึ่งนักศึกษาเหล่านี้คืออนาคตที่สำคัญของยุคดิจิทัล
ติดปีกให้กับผู้นำในยุคต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วรรณ์ขวัญ พลจันทร์ ผู้ก่อตั้งภาควิชาสื่อและการสื่อสาร วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความสำคัญของงานครั้งนี้ว่า “นักศึกษาของเราคือเลือดใหม่ของอุตสาหกรรมการสื่อสารนี้ ทุกคนต่างเข้าใจและรู้ว่าจะต้องใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มสื่อดิจิทัลเหล่านี้ได้อย่างไร งาน "Me[I]dia" นี้จึงเป็นเหมือนงานฉลองเส้นทางการสร้างสรรค์ผลงานของทุกคน ให้ทุกคนได้มีแพลตฟอร์มที่จะแสดงผลงานของตัวเองกับนักสื่อสารและโฆษณารุ่นพี่ และในขณะเดียวกันก็หวังว่าจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ นักเรียนที่อยากจะเข้ามาเรียนในสาขาวิชานี้ที่ต่อไปจะเป็นที่ต้องการของตลาดมาก รวมทั้งผู้ปกครองก็จะได้เรียนรู้และเข้าใจถึงสาขาวิชานี้ได้มากยิ่งขึ้น อาจารย์ทุกท่านในภาควิชาต่างก็ดีใจ และภูมิใจที่ได้ฝึกฝนให้ทุกๆ คนเข้าใจว่าเทคโนโลยีกับความคิดสร้างสรรค์นั้นทำงานร่วมกันได้อย่างไร เตรียมตัวให้แต่ละคนสามารถรับมือกับความท้าทายในการสร้างคอนเทนต์ งานสื่อสารมวลชน งานภาพยนตร์ และงานดิจิทัลมีเดียให้ได้มากที่สุด”
ไฮไลต์ของงาน “Me[I]dia” ครั้งนี้
หนึ่งในผลงานที่โดดเด่นของนักศึกษา คือ แบรนด์แฟชั่นน้องใหม่ “BBoldClub” ซึ่งสร้างสรรค์โดยนักศึกษา IMC โดยมุ่งเน้นการสื่อสารทางการตลาดเพื่อเชื่อมโยงเนื้อหาเกี่ยวกับเทรนด์แฟชั่น การแต่งตัวที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการเป็นตัวเอง ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้แต่ละบุคคลก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนและกล้าที่จะแสดงออกถึงความเป็นตัวเองในสังคมปัจจุบัน
“BBoldClub ถูกสร้างขึ้นเพราะอยากจะให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตด้วยความกล้า และเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนรอบตัวมีความกล้าเหมือนกัน” นายวรวัฒน์ “นอร์ธ” พงศ์ไสว เล่าถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์ “ผมอยากทำให้ทุกคนเห็นว่าแฟชั่นก็เป็นสื่ออันทรงพลังที่ทำให้ทุกคนแสดงถึงความเป็นตัวของตัวเอง และการเสริมสร้างพลังให้กับทุกคนได้เช่นกัน”
อีกผลงานที่น่าจับตามองในงานนี้คือภาพยนตร์สั้นเรื่อง “Kupala Night” จากนักสร้างภาพยนตร์น้องใหม่ น.ส. ลาน่า มานโคว่า ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของศิลปินคนหนึ่งที่ต้องต่อสู้กับการค้นหาตัวเองและหาจุดหมายของชีวิต ในคืน Kupala เธอได้รับ "หีบห่อปริศนา"
“หนังสั้นเรื่องนี้มีความหมายกับตัวเองมาก” ลาน่ากล่าว “ดิฉันหวังว่าผู้ชมจะเข้าใจมุมมองของเรื่องราวที่ถ่ายทอดออกมา และหวังว่ามันจะช่วยจุดประกายให้แต่ละคนเริ่มตั้งคำถามและค้นหาตัวเองเพื่อค้นพบจุดหมายแห่งสุนทรีย์”
ความสำเร็จของศิษย์เก่า และแรงบันดาลใจให้เลือดใหม่
ภาควิชาสื่อและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนานาชาติมหิดล ภูมิใจนำเสนอความสำเร็จของศิษย์เก่าที่หลังจากสำเร็จการศึกษาได้เข้าไปทำงานและสร้างผลงานที่น่าประทับใจมากมาย ซึ่งหลายคนได้รับรางวัลจากเวทีระดับนานาชาติ เช่น รางวัล Best Student Film จาก London International Monthly Film Festival สำหรับหนังสั้นเรื่อง “Kain” ซึ่งกำกับโดย น.ส. กมลทิพย์ วอล์คเกอร์ นอกจากนี้ยังคว้ารางวัลขุนวิจิตรมาตราจากเทศกาลหนังสั้นเรื่อง "The Boogeyman: Who Killed Sherry Anne Duncan?" และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย
น.ส. ปภาวดี วัลลิกุล หนึ่งในศิษย์เก่าของภาควิชา กล่าวว่า “หลังจากที่ได้เห็นตัวอย่างผลงาน ในฐานะศิษย์เก่าดิฉันประทับใจกับผลงานแต่ละชิ้นของน้องๆ ในปีนี้มาก และงาน 'Me[I]dia' นี้จะเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้โชว์ศักยภาพ สร้างความประทับใจให้กับ ‘ว่าที่เจ้านาย’ ที่จะเข้ามาร่วมชมผลงานครั้งนี้เพื่อเฟ้นหาเลือดใหม่”
มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งและสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน
“เราขอเชิญชวนให้นักเรียน ผู้ปกครอง และทุกท่านที่สนใจมาร่วมชมผลงานอันน่าประทับใจและทำความรู้จักกับนักศึกษาที่เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานเหล่านี้ ทุกคนที่อยู่เบื้องหลังงานนี้ต่างก็หวังว่าจะมีส่วนในการสร้างแรงบันดาลใจ และแสดงให้เห็นว่างานด้านการสื่อสารนั้นมีความเป็นไปได้มากมาย” ผศ. ดร. วรรณ์ขวัญ พลจันทร์ กล่าวปิดท้าย และเชิญชวนทุกคน
ขอเชิญร่วมงาน "Me[I]dia" ครั้งที่ 9 นี้และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดประสบการณ์อนาคตของโลกการสื่อสารยุคดิจิทัล
เกี่ยวกับภาควิชาสื่อและการสื่อสาร
วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาควิชาสื่อและการสื่อสาร วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งขึ้นด้วยความมุ่งมั่นที่จะผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อรองรับตลาดสื่อดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเรียนการสอนเน้นที่ความสำคัญของสื่อดิจิทัลและความเข้าใจในแพลตฟอร์มดิจิทัลที่หลอมรวมกัน นักศึกษาที่จบการศึกษาจากภาควิชานี้ ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ นักสื่อสารมวลชน นักสร้างภาพยนตร์ หรือนักการตลาดดิจิทัล จะมีทักษะและความรู้พร้อมรับมือกับความท้าทายของโลกการสื่อสารในยุคปัจจุบัน
Comments